ระบบโซล่าเซลล์ มีกี่แบบ อะไรบ้าง? เลือกอย่างไรให้เหมาะสม

ปัจจุบันระบบโซล่าเซลล์ (Solar Cell System) กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเองด้วย ในการติดตั้งเพื่อนำพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์มาใช้งาน ซึ่งทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจก็ได้หันมาให้ความสนใจระบบไฟโซล่าเซลล์ เพราะคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงาน
ทั้งนี้ ก่อนตัดสินใจติดตั้งระบบโซล่าเซลล์บ้าน อาคารพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ควรศึกษาให้รอบคอบถึงรูปแบบของระบบโซล่าเซลล์ว่าระหว่าง On Grid/Off Grid/Hybrid ประเภทไหนตอบโจทย์มากที่สุด
ระบบโซล่าเซลล์ คืออะไร มีหลักการทำงานอย่างไร
ระบบโซล่าเซลล์ คือ ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยหลักการทำงานของโซล่าเซลล์ คือ การใช้แผงโซล่าเซลล์ที่มีส่วนประกอบหลักของสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) อย่างซิลิคอน (Silicon) จะดูดซับแสงที่ตกกระทบมายังแผง ซึ่งจะเกิดปรากฏการณ์โฟโตวอลเทอิก (Photovoltaic Effect) ที่แปลงสภาพพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าในที่สุด
ระบบโซล่าเซลล์ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ที่มีความสำคัญ
โดยทั่วไปแล้วในการจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้นั้น ระบบโซล่าเซลล์จำเป็นต้องประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ดังนี้
- แผงโซล่าเซลล์ (Solar Panel): แผงวงจรที่แปลงพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า
- อินเวอร์เตอร์ (Inverter): อุปกรณ์แปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่ได้จากแผงให้กลายเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) เนื่องจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ในครัวเรือนอาศัยไฟฟ้ากระแสสลับในการทำงาน
- เซอร์กิตเบรกเกอร์ (Circuit Breaker): อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นสวิตช์เปิด-ปิดวงจรไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้าไปยังโหลดในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาด ช่วยป้องกันวงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าจากความเสียหาย
- อุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าไหลย้อน (Zero Export Controller): อุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบโซล่าเซลล์ไหลย้อนกลับเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้า ด้วยการตรวจจับกระแสไหลย้อนกลับและสั่งลดการปล่อยพลังงานจากอินเวอร์เตอร์
- แบตเตอรี่โซล่าเซลล์ (Solar Battery): แบตเตอรี่โซล่าเซลล์ จะทำหน้าที่ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตได้จากแผงโซล่าเซลล์
นอกจากส่วนประกอบระบบโซล่าเซลล์ข้างต้น ยังมีอุปกรณ์เสริมอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่สำหรับกักเก็บไฟฟ้า อุปกรณ์สำรองไฟ (Backup Interface) รวมไปถึงซอฟต์แวร์ต่างๆ สำหรับบริหารจัดการระบบโซล่าเซลล์ ซึ่งสามารถติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และอำนวยความสะดวกในการบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์อีกด้วย

ระบบโซล่าเซลล์ มีกี่แบบ อะไรบ้าง ?
หากสงสัยว่าระบบโซล่าเซลล์มีกี่แบบ ปัจจุบันระบบโซล่าเซลล์มีอยู่ด้วยกัน 3 ระบบ คือ ระบบโซล่าเซลล์ On Grid, ระบบโซล่าเซลล์ Off Grid และระบบโซล่าเซลล์ Hybrid ซึ่งแน่นอนว่า แต่ละระบบนั้นมีหลักการทำงานที่แตกต่างกัน
1. โซล่าเซลล์ออนกริด (On Grid)
ระบบโซล่าเซลล์ On Grid คือ ระบบที่ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ พร้อมเชื่อมต่อไฟฟ้าที่มาจากการไฟฟ้า หรือให้เข้าใจง่ายๆ ว่า เป็นการใช้ไฟฟ้าทั้งจากระบบโซล่าเซลล์ควบคู่กับการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าที่ใช้อยู่เดิม จึงต้องมีการขออนุญาตจากการไฟฟ้าก่อนจะติดตั้งได้
โซล่าเซลล์ออนกริด สามารถใช้งานโดยร่วมกับแบตเตอรี่หรือไม่ก็ได้ หากไม่มีแบตเตอรี่ จะใช้ไฟจากโซล่าเซลล์ในบ้านแค่ในช่วงกลางวันที่มีแสงอาทิตย์ ช่วงที่แสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ ต้องพึ่งไฟจากการไฟฟ้า ซึ่งระบบ On Grid เป็นหนึ่งในระบบโซล่าเซลล์บ้านที่นิยมมากที่สุด เหมาะกับครัวเรือนหรืออาคารที่มักใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน แต่หากมีแบตเตอรี่ใช้ร่วมแล้ว ก็จะช่วยลดการพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
ข้อดีของโซล่าเซลล์ระบบออนกริด
- ใช้ต้นทุนเริ่มต้นในการติดตั้งไม่สูงมากนัก
- คืนทุนเร็วที่สุด เมื่อเทียบกับระบบโซล่าเซลล์แบบอื่นๆ
- สามารถนำไฟฟ้าที่ผลิตไปขายคืนให้กับการไฟฟ้าได้ ตามข้อกำหนด
ข้อเสียโซล่าเซลล์ระบบออนกริด
- หากไม่ติดตั้งแบตเตอรี่ ระบบจะใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าหากพลังงานจากโซล่าร์ไม่พอ และไม่มีไฟฟ้าสำรองใช้ในตอนกลางคืน หรือกรณีไฟดับ ดังนั้น จึงแนะนำให้ติดตั้งแบตเตอรี่พร้อมแบ็กอัปเพิ่มเติมสำหรับบ้านที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าสำรอง
2. โซล่าเซลล์ออฟกริด (Off Grid)
ระบบโซล่าเซลล์ Off Grid คือ ระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากการผลิตของแผงโซล่าเป็นหลัก โดยไม่เชื่อมต่อไฟฟ้าจากการไฟฟ้า หรืออาจเพิ่มแบตเตอรี่เพื่อความเสถียรของไฟฟ้าเพิ่มขึ้นก็สามารถทำได้ ใช้มากในพื้นที่ที่ห่างไกลสายส่งจากการไฟฟ้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักเลือกใช้งานแบตเตอรี่ชนิด Deep Cycle ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถคายประจุ (Discharge) ได้มากกว่าแบตเตอรี่แบบธรรมดา จึงกักเก็บไฟฟ้าได้นานกว่า
ข้อดีของโซล่าเซลล์ระบบออฟกริด
- บ้านหรืออาคารในพื้นห่างไกลที่สายส่งจากการไฟฟ้าเข้าไม่ถึงสามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้
- มีไฟฟ้าใช้แม้ในตอนกลางคืนหรือเกิดไฟดับ หากติดตั้งร่วมกับแบตเตอรี่ โดยแนะนำให้ติดตั้งแบตเตอรี่ตามโหลด (Load) การใช้งานเพื่อสำรองไฟฟ้า
ข้อเสียของโซล่าเซลล์ระบบออฟกริด
- แบตเตอรี่ มีค่าบำรุงรักษาเพิ่มมา และอายุการใช้งานของแบตเตอรี่มีข้อจำกัด
- มีสินค้าให้เลือกไม่หลากหลายนัก และราคาสูงกว่า
3. โซล่าเซลล์ไฮบริด (Hybrid)
ระบบโซล่าเซลล์ Hybrid คือ ระบบที่ต้องมีแบตเตอรี่ สามารถจ่ายพลังงานจากระบบโซล่าหรือพร้อมกับแบตเตอรี่ หรือหากมีการใช้ไฟมากกว่านี้ยังใช้ไฟจากการไฟฟ้าร่วมด้วยก็ได้ (On Grid) หากเกิดไฟฟ้าขัดข้องก็ยังสามารถใช้ไฟจากแบตเตอรี่ได้ตอนไฟดับอีกด้วย (Off Grid) ส่งผลให้มีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องและให้เสถียรภาพที่ดีกว่า
ข้อดีของระบบโซล่าเซลล์ Hybrid
- ประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับอีกสองระบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของระบบโซล่าเซลล์
- มีกระแสไฟฟ้าสำรองใช้เมื่อเกิดเหตุไฟดับ ทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน เหมาะอย่างยิ่งกับที่พักอาศัย หรือธุรกิจ
ข้อเสียของระบบโซล่าเซลล์ Hybrid
- ต้นทุนการติดตั้งค่อนข้างสูง จากการที่มีแบตเตอรี่และอุปกรณ์เสริมที่มากกว่า
- เพราะเป็นระบบที่ซับซ้อนกว่า จึงต้องใช้ความรู้และความสามารถในการออกแบบและติดตั้งวงจรระบบโซล่าเซลล์อย่างรอบคอบเพื่อให้การจัดการพลังงานเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
เลือกติดตั้งระบบโซล่าเซลล์แบบไหนดี ?
พอทราบกันไปแล้วว่า ระบบโซล่าเซลล์ มีกี่ระบบ และแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงาน หรืออุปกรณ์ที่ใช้ก็ตาม ผู้ใช้งานควรศึกษาระบบที่เหมาะกับที่อยู่อาศัย อาคาร หรือโรงงานของตน โดยระบบ On Grid นั้นอาศัยต้นทุนเริ่มต้นในการติดตั้งที่ต่ำ เหมาะกับครัวเรือนในเมืองที่เชื่อมต่อกับการไฟฟ้า อีกทั้งสามารถขายไฟฟ้าคืนได้ จึงคืนทุนไว ส่วนระบบ Off Grid เหมาะกับพื้นที่สายส่งไฟฟ้าไม่ถึง สุดท้าย ระบบ Hybrid นั้นเหมาะสมกับผู้ที่มักใช้ไฟเวลากลางคืน เจอปัญหาไฟดับบ่อยๆ หรือมีพื้นที่ติดตั้งแผงโซล่าได้มากกว่าความต้องการใช้งาน เพื่อกักเก็บไฟฟ้าในแบตเตอรี่ไว้ใช้ในช่วงเวลาอื่นได้
ขั้นตอนการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์
1. สำรวจพื้นที่ที่จะติดตั้ง
ก่อนการติดตั้ง ผู้เชี่ยวชาญจะต้องทำการสำรวจพื้นที่ที่ต้องการติดตั้ง เช่น หลังคาหรือพื้นที่ว่างที่เหมาะสมในการรับแสงอาทิตย์ โดยต้องพิจารณาถึงทิศทางและมุมของแสง เพื่อให้แผงโซล่าเซลล์ได้รับแสงอย่างเต็มที่
2. ออกแบบระบบตามการใช้งาน
การออกแบบระบบจะขึ้นอยู่กับขนาดและการใช้งานของผู้ใช้งาน โดยการคำนวณปริมาณไฟฟ้าที่ต้องการใช้ต่อวันเพื่อเลือกขนาดแผงและอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เช่น อินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่
3. ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์
เมื่อได้ขนาดและรูปแบบของระบบแล้ว การติดตั้งแผงโซล่าเซลล์จะต้องทำอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยติดตั้งบนโครงสร้างที่มั่นคงและทนทาน เช่น หลังคาหรือโครงเหล็ก และทำการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าให้เหมาะสม
4. เชื่อมต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าบ้าน
หลังจากติดตั้งแผงแล้ว จะทำการเชื่อมต่อระบบโซล่าเซลล์เข้ากับระบบไฟฟ้าในบ้าน โดยใช้ตัวแปลงไฟฟ้าหรืออินเวอร์เตอร์ เพื่อให้สามารถใช้งานพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้
5. ตรวจสอบระบบโซล่าเซลล์
หลังจากการติดตั้ง ควรมีการตรวจสอบระบบและการบำรุงรักษาเป็นระยะ เช่น การทำความสะอาดแผงและการตรวจสอบอุปกรณ์ เพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ราคาระบบโซล่าเซลล์ คิดจากอะไรบ้าง
สำหรับผู้ที่กำลังพิจารณาอยากติดโซล่าเซลล์บ้าน ควรทำความเข้าใจราคาของระบบโซล่าเซลล์ให้ดีก่อนตัดสินใจ เพราะจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้
1. ราคาค่าติดตั้งระบบโซล่าเซลล์
ค่าใช้จ่ายแรกที่ต้องคิด ก็คือ ค่าแรงสำหรับการติดตั้งโซล่าเซลล์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดของระบบและความซับซ้อนในการติดตั้ง รวมถึงพื้นที่ที่ต้องการติดตั้งและความชำนาญของทีมงานติดตั้ง การติดตั้งในบางพื้นที่อาจต้องมีการปรับพื้นที่เพิ่มเติม เช่น หลังคาที่ต้องเสริมความแข็งแรง ทำให้ค่าติดตั้งแตกต่างกันไปตามเงื่อนไข
2. ราคาอุปกรณ์โซล่าเซลล์
ต่อมาจะเป็นเรื่องของราคาอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบโซล่าเซลล์ เช่น แผงโซล่าเซลล์ อินเวอร์เตอร์ (Inverter) แบตเตอรี่ และสายไฟ ฯลฯ มักจะเป็นส่วนใหญ่ของต้นทุน ราคาของแผงโซล่าเซลล์นั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและคุณภาพของแผง แผงที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าจะมีราคาสูงกว่า นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงการเลือกใช้อินเวอร์เตอร์ที่เข้ากับระบบด้วย
3. ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา
แม้ว่าระบบโซล่าเซลล์จะไม่จำเป็นต้องบำรุงรักษาบ่อย แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์ การตรวจสอบและเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่างที่เสื่อมสภาพ อย่างแบตเตอรี่หรืออินเวอร์เตอร์ ซึ่งต้องคำนวณไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในระยะยาว
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ที่สนใจในระบบโซล่าเซลล์ ทั้งส่วนประกอบของระบบโซล่า หรือรูปแบบการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ก็ตาม ซึ่งไม่ว่าจะเป็นระบบไหน โซล่าเซลล์ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการผลิตพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย
SolarEdge ผู้นำระดับโลกด้านระบบโซล่าเซลล์
SolarEdge ผู้นำนวัตกรรมด้านโซลูชั่นพลังงานแสงอาทิตย์ ที่คิดค้นอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมระบบโซล่าเซลล์มานานกว่าทศวรรษ ได้รับความไว้วางใจจากมืออาชีพด้านโซล่าเซลล์ชั้นนำกว่า 140 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท เจ้าของบ้าน และผู้ดำเนินธุรกิจโซล่าเซลล์ โดยมีผลงานติดตั้งในประเทศไทยมากกว่า 3,000 ไซต์
โดย SolarEdge มีกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับระบบโซล่าเซลล์ที่ครอบคลุม ซึ่งล้วนประกอบไปด้วยนวัตกรรมล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นอินเวอร์เตอร์ แบตเตอรี่ Power Optimizer และ Backup Interface ด้วยการมีระบบความปลอดภัยแบบบิลต์อินที่ครบครัน รวมไปถึงซอฟต์แวร์สำหรับจัดการพลังงานอย่างง่ายดาย อีกทั้งยังมีบริการหลังการขายที่ตอบโจทย์ทั้งเจ้าของบ้านและธุรกิจ พร้อมมอบการรับประกันที่ยาวนานที่สุดในตลาด
ติดต่อเรา
กรอกแบบฟอร์ม คลิก
LINE Official: SolarEdge Thailand
ติดตามข่าวสารใหม่ๆ จาก SolarEdge
Facebook: SolarEdge Technologies Inc.
Instagram: @solaredgepv
X: @SolarEdgePV
LinkedIn: SolarEdge Technologies