4 ขั้นตอนสำคัญในการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์ อัปเดตปี 2568

ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Sustainability) เป็นสิ่งที่ทุกคนและทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญ ส่งผลให้การติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ โดยเฉพาะโซล่ารูฟท็อป (Solar Rooftop) กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากทั้งในกลุ่มบ้านเรือน อาคารพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศไทย ด้วยความต้องการในการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ประหยัดค่าไฟฟ้าในระยะยาว และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากอ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า ประเทศไทยมีการติดตั้งโซล่าเซลล์เพิ่มขึ้นจาก 49 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2553 เป็น 2,983 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2563 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568 นี้
แม้ว่าการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์จะมีประโยชน์หลายด้าน แต่หลายคนอาจสงสัยว่าติดตั้งโซล่าเซลล์ต้องขออนุญาตไหม บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์แบบละเอียด ฉบับอัปเดตปี 2568 รวมถึงอธิบายค่าใช้จ่ายขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์ที่เกี่ยวข้อง
ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์แบบไหนต้องขออนุญาตจากภาครัฐ
ก่อนจะเริ่มต้นทำความเข้าใจเรื่องการขออนุญาต ควรทราบก่อนว่าระบบโซล่าเซลล์ประเภทไหนที่จำเป็นต้องขออนุญาตจากภาครัฐ ซึ่งโดยทั่วไป ระบบโซล่าเซลล์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
1. ระบบออนกริด (On-Grid)
โซล่าเซลล์ออนกริด เป็นระบบที่ผลิตพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์และใช้ไฟฟ้าจาก “กริด” (Grid) ของการไฟฟ้า ซึ่งจะติดตั้งแบตเตอรี่โซล่าเซลล์หรือไม่ก็ได้ โดยระบบนี้จำเป็นต้องดำเนินการขออนุญาตจากการไฟฟ้าก่อนการติดตั้ง เนื่องจากมีการเชื่อมต่อขนานไฟกับระบบของการไฟฟ้า
2. ระบบออฟกริด (Off-Grid)
ระบบออฟกริดเป็นระบบที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับไฟฟ้าจากการไฟฟ้า จึงไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากการไฟฟ้า โดยในการออกแบบระบบจะมีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ร่วมกับแบตเตอรี่ เพื่อกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ จึงเป็นระบบผลิตพลังงานที่เหมาะสำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ระบบของการไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
3. ระบบไฮบริด (Hybrid)
ระบบไฮบริดเป็นการผสมผสานระหว่างระบบออนกริดและออฟกริด โดยใช้ไฟฟ้าจากทั้งการไฟฟ้าและพลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ รวมทั้งมีการติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงานไว้ใช้ในเวลากลางคืนหรือเมื่อไม่มีแสงแดด ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเชื่อมต่อกับกริดของการไฟฟ้า ระบบนี้จำเป็นต้องขออนุญาตก่อนติดตั้งเช่นกัน
บอกต่อ 4 ขั้นตอนการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์

ในปี 2568 ยังคงใช้หลักเกณฑ์การขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์เช่นเดียวกับปี 2567 โดยมีขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. ยื่นขออนุญาตกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น
ขั้นตอนแรกในการขออนุญาตติดโซล่าเซลล์บ้าน คือ การยื่นเรื่องกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ เช่น สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล โดยเอกสารที่ยื่นจะต้องผ่านการตรวจสอบและเซ็นรับรองโดยวิศวกรโยธาที่มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกร (กว.) อย่างถูกต้อง
ซึ่งเอกสารที่ต้องยื่นแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
- ยื่นใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร เพื่อขออนุญาตปรับปรุงอาคาร (อ.1) สำหรับกรณีที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในพื้นที่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมเกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
- ยื่นใบคำร้องแจ้งให้ทราบ สำหรับกรณีที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในพื้นที่ไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
หลังจากยื่นเอกสารและได้รับหลักฐานการขออนุญาตแล้ว ก็สามารถดำเนินการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ได้ทันที โดยควรให้บริษัทติดตั้งโซล่าเซลล์ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการติดตั้ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของการไฟฟ้า
2. แจ้งขอยกเว้นการขอใบอนุญาตจาก กกพ.
หลังจากได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานราชการในท้องถิ่นแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การแจ้งขอยกเว้นการขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งมีเกณฑ์พิจารณา ดังนี้
- หากติดตั้งระบบโซล่าเซลล์มีกำลังผลิตมากกว่า 200kVA แต่น้อยกว่า 1,000 kVA ให้แจ้งขอยกเว้นการรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าจาก กกพ.
- ในกรณีที่ ระบบโซล่าเซลล์มีกำลังผลิตมากกว่า 1,000 kVA เช่น ติดตั้งโซล่าโรงงานขนาดใหญ่ จำเป็นต้องแจ้งขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า
โดยสามารถยื่นที่สำนักงาน กกพ. หรือผ่านเว็บไซต์ www.erc.or.th/th เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น จะได้รับหนังสือการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตจากสำนักงาน กกพ.
3. ขออนุญาตเชื่อมขนานกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าต่อ กฟน. หรือ กฟภ.
หลังขออนุญาตและขอยกเว้นการขอใบอนุญาตข้างต้นแล้ว ต่อมาคือ การยื่นเรื่องขอเชื่อมต่อระบบโซล่าเซลล์เข้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้า ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี
- เพื่อใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหรืออาคารเพียงอย่างเดียว โดยต้องออกแบบระบบป้องกันไม่ให้มีการจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับสู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า
- เพื่อใช้ไฟฟ้าภายในบ้านหรืออาคาร และขายไฟฟ้าส่วนเกินให้กับการไฟฟ้า (ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท) ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศของการไฟฟ้า
เอกสารที่ต้องยื่น ได้แก่
- เอกสารมอบอำนาจ (กรณีให้บริษัทติดตั้งโซล่าเซลล์ดำเนินการแทน)
- รูปถ่ายแสดงอุปกรณ์ แผง และอินเวอร์เตอร์อย่างชัดเจน
- ใบอนุญาตดัดแปลงอาคาร (อ.1)
- แบบแปลนโครงสร้างการติดตั้งที่รับรองโดยวิศวกรโยธาที่มีใบรับรอง กว.
- แบบ Single Line Diagram ที่รับรองโดยวิศวกรไฟฟ้า
- รายละเอียด รุ่น ยี่ห้อของแผงโซล่าเซลล์ และอินเวอร์เตอร์ (Specification)
- Mini COP รายการตรวจสอบมาตรการด้านการออกแบบติดตั้งตามประมวลหลักการปฏิบัติ
โดยผู้ที่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ สามารถยื่นเรื่องกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ สามารถยื่นเรื่องกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้งนี้ควรตรวจสอบโควต้าการเปิดรับเชื่อมขนานเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า สิทธิในการเชื่อมขนานกับระบบของการไฟฟ้า ณ ขณะนั้นยังคงเหลืออยู่
4. รับการตรวจสอบระบบโซล่าเซลล์จากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า
หลังจากยื่นเอกสารครบถ้วนและได้รับการอนุมัติเบื้องต้นแล้ว เจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าจะเข้ามาตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าที่บ้านหรืออาคาร โดยเมื่อตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว อันดับต่อมา คือ การดำเนินการเปลี่ยนมิเตอร์จากแบบธรรมดาเป็นมิเตอร์ดิจิทัล พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าย้อนกลับสู่ระบบโครงข่ายของการไฟฟ้า
ในขั้นตอนนี้ จะต้องชำระค่าใช้จ่ายขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์ ซึ่งประกอบด้วย
- ค่าตรวจสอบการเชื่อมระบบของการไฟฟ้า
- ค่ามิเตอร์ดิจิทัล
- ค่าอุปกรณ์ป้องกันไฟย้อน
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
โดยค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อาจแตกต่างกันไปตามขนาดของระบบและพื้นที่ให้บริการของการไฟฟ้า โดยทั่วไปอาจอยู่ที่ประมาณ 5,000 - 20,000 บาท ซึ่งหลังจากชำระค่าใช้จ่ายและได้ติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็นแล้ว จึงจะถือว่าเสร็จสิ้นกระบวนการขออนุญาตทั้งหมด และสามารถใช้งานระบบโซล่าเซลล์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์ ให้บริษัทติดตั้งโซล่าเซลล์ดำเนินการแทนได้ไหม

จากที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์มีหลายขั้นตอน ซึ่งอาจใช้ระยะเวลายาวนานถึง 6 เดือนหรือมากกว่า และต้องเตรียมเอกสารหลายฉบับ รวมทั้งต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ซึ่งอาจทำให้เจ้าของบ้าน โรงงาน หรืออาคารประสบกับความยุ่งยากในการดำเนินการด้วยตนเอง ดังนั้น การให้บริษัทติดตั้งโซล่าเซลล์ที่มีประสบการณ์และความน่าเชื่อถือดำเนินการแทนจึงเป็นทางเลือกที่สะดวกกว่า
โดยสามารถมอบอำนาจให้บริษัทติดตั้งโซล่าเซลล์ดำเนินการขออนุญาตแทนได้ เพียงแค่เตรียมเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออาคาร พร้อมทั้งลงนามในหนังสือมอบอำนาจให้บริษัทดำเนินการแทน ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากในการเตรียมเอกสารและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทำให้กระบวนการทั้งหมดรวดเร็วและราบรื่นยิ่งขึ้น
บริษัทติดตั้งที่มีประสบการณ์จะมีความคุ้นเคยกับขั้นตอนและข้อกำหนดต่างๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าการดำเนินการด้วยตนเอง นอกจากนี้ บริษัทติดตั้งโซล่าเซลล์ผู้เชี่ยวชาญยังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับขนาดและรูปแบบของระบบ ที่เหมาะสมกับความต้องการและงบประมาณอีกด้วย
ในท้ายที่สุด การตัดสินใจลงทุนในระบบโซล่าเซลล์เป็นก้าวสำคัญสู่การประหยัดพลังงานและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม แม้กระบวนการขออนุญาตติดตั้งโซล่าเซลล์อาจดูยุ่งยาก แต่ผลลัพธ์การลงทุนในระยะยาวนั้นถือว่าคุ้มค่า นอกจากนี้ การเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจะช่วยให้ระบบโซล่าเซลล์ทำงานได้เป็นมีประสิทธิภาพ
วางแผนติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ เลือกผลิตภัณฑ์โซล่าเซลล์จาก SolarEdge
SolarEdge Technologies เป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยใช้วิศวกรรมและนวัตกรรมระดับโลกในการพัฒนาโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับกลุ่มลูกค้าในภาคที่อยู่อาศัย ภาคพาณิชย์ และภาคสาธารณูปโภค SolarEdge นำเสนอโซลูชันที่ปรับให้เหมาะสมสำหรับการผลิต การจัดเก็บ การจัดการ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทพัฒนาและผลิตอินเวอร์เตอร์พลังงานแสงอาทิตย์ Power Optimizer ระบบจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ระบบจัดเก็บพลังงาน และบริการโครงข่ายไฟฟ้า
เทคโนโลยี DC-Optimized ของ SolarEdge ถูกติดตั้งในบ้านหลายล้านหลังในกว่า 140 ประเทศ และมากกว่า 50% ของบริษัท Fortune 100 มีการใช้งานเทคโนโลยีของ SolarEdge บนหลังคาของพวกเขา SolarEdge มีบทบาทสำคัญในการเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่โครงข่ายพลังงานแบบกระจายที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัทยังมีบริการหลังการขายที่ครอบคลุม เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งเจ้าของบ้านและภาคธุรกิจ และเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ให้การรับประกันที่ยาวนานที่สุดในตลาดอีกด้วย
ติดต่อเรา
กรอกแบบฟอร์ม คลิก
LINE Official: SolarEdge Thailand
ติดตามข่าวสารใหม่ๆ จาก SolarEdge
Facebook: SolarEdge Technologies Inc.
Instagram: @solaredgepv
X: @SolarEdgePV
LinkedIn: SolarEdge Technologies